High Technology (เทคโนโลยีขั้นสูง)
ความหมาย
เป็นคำที่แสดงถึงคุณภาพที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้น ๆ หรืองานนั้น ๆ ได้มีการค้นคว้าและพัฒนากันมามากมายแล้ว
HR ยุค Next Gen : Hi Tech & Human Touch
ทุกวันนี้เราคงหลีกหนีกระแสเทคโนโลยีไม่พ้น ไม่ว่าจะที่ไหน เรื่องใด งาน หรือชีวิตส่วนตัว ทุกอย่างล้วนมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยเสมอ องค์กรหลายต่อหลายแห่ง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เพื่อช่วยเสริมการทำธุรกิจให้มีความแตกต่าง อาทิ นำระบบแบบไร้สาย (wireless) มาใช้ หรือบางองค์กรก็ก้าวเข้าสู่ยุคที่กระดาษไม่จำเป็นอีกต่อไป (paperless) ดังนั้น การติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงทำได้ง่ายด้วยเครือข่ายระบบโทรคมนาคมอันทันสมัย ที่เชื่อมโยงทุกความต้องการของการติดต่อ เข้าด้วยกันได้ ทุกที่ทุกเวลา ระบบการส่งข้อมูลแบบไร้สาย หรือแบบมีสายผ่านเส้นใยแก้วนำแสง (fiber optic) ทำให้การส่งข้อมูลขนาดใหญ่ จำนวนมาก ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส การพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งมีรูปแบบของ open platform มากขึ้นและราคาที่ถูกลง ทำให้การเป็นเจ้าของเพื่อใช้งาน ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมดังเช่นในอดีต
ผลดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่เห็นได้ชัด คือ ช่วยสร้างให้องค์กรก้าวกระโดดไปข้างหน้า ในด้านศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ และการให้บริการ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานให้สูงขึ้นตามไปโดยลำดับ เพื่อตอบรับกับสิ่งที่เปลี่ยนไป วันนี้ HR เข้าใจเทคโนโลยี และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพียงใด เมื่อองค์กรตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ แน่นอนว่า HR ต้องอยู่ในวงจรของการก่อให้เกิดการปฏิบัติ (implementation) ต้องทำความเข้าใจในบริบทและสาระของเทคโนโลยีที่องค์กรนำเข้ามา เพื่อที่จะส่งต่อความรู้ความเข้าใจไปยังบุคลากร อันจะนำไปสู่การยอมรับ ปรับเปลี่ยน และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คุ้มค่าต่อการลงทุนที่เสียไปขององค์กร
การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับงาน HR ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ในต่างประเทศมีการใช้กันอย่างจริงจัง และกว้างขวาง และวันนี้ก็เริ่มแพร่ขยายเข้ามายังองค์กรในประเทศไทยหลายแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน การนำเทคโนโลยีมาใช้ เริ่มตั้งแต่ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารขององค์กร การรับสมัครงานและการคัดเลือกพนักงาน (recruitment and selection) การจัดการข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน ในลักษณะ employee self-services เช่น การลงเวลาทำงาน การขอลางาน หยุดงาน การขอหนังสือรับรองการทำงาน การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น หรือในการพัฒนาพนักงานผ่านระบบการเรียนรู้ การศึกษาทางไกล (online learning) ไปจนถึงการลาออก ล้วนแล้วแต่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เมื่อ HR นำเทคโนโลยีมาใช้ จะเป็นการใช้เพื่อเอื้อกับงานของตนเองเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ระบบบันทึกการลางานหยุดงานของพนักงาน หรือระบบที่ใช้ในการลงเวลาทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะขึ้นกับการประสานประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อันได้แก่ องค์กรซึ่งเป็นผู้ลงทุน ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานที่เพิ่มขึ้น ตัวพนักงานเองได้รับความสะดวกสบาย ใช้เวลาในการทำงานได้อย่างเต็มที่ และ HR ซึ่งทำงานง่ายและสบายขึ้น งานมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
การเลือกเทคโนโลยีมาใช้ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ สิ่งที่ใช้ได้ดีในองค์กรต่างประเทศ ไม่จำเป็นว่าจะดีและสมบูรณ์แบบเสมอไป สำหรับบ้านเรา feature ที่มากมายหลากหลายของ application ที่ฝรั่งออกแบบมาเป็นมาตรฐาน ส่วนมากใช้กันไม่ครบ พูดได้ว่าจ่ายไปร้อย ใช้ไม่ถึงห้าสิบ บางอันไม่ตรงกับความต้องการ ไปดัดแปลงของเขา ต่อเติมเองก็มี จนบางครั้งหาที่มาที่ไปไม่เจอ ต้องทิ้ง และซื้อของใหม่มาใช้เลยก็มาก ทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่าไหม หากเทคโนโลยีใดเช่าได้ ลองดูก่อน น่าจะดีกว่าทุ่มทุนซื้อมาใช้ในองค์กรทันทีทันควัน
ข้อสำคัญของการจะนำเทคโนโลยีใดๆ มาใช้ ต้องมองให้ครบวงจรว่าเกิดและเติบโตได้ หลายๆ บริษัทจึงลงทุนด้านเทคโนโลยีในงาน HR เป็นเงินที่สูงมาก เอาเข้าจริงปรากฏว่าไม่ได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ เพราะคนที่นำมาใช้วางหลักไม่ถูกต้อง คือมองว่า เมื่อนำมาใช้แล้วทุกอย่างจบในตัว ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ระบบไม่สามารถแทนที่การทำงานของคนได้ เราต้องมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริมไม่ใช่เครื่องมือหลัก เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ HR ต้องมีกลยุทธ์ วิธีการ และแผนงานที่จะช่วยปรับแต่งพฤติกรรมของคนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้วย
การใช้เทคโนโลยีบังคับให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ความจริงก็ทำได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเป็นการสื่อสารตรงจาก HR ไปยังพนักงาน เพราะน่าจะได้ความเข้าอกเข้าใจกันที่ดีกว่า และมี human touch พนักงานรู้ถึงประโยชน์ที่เขาและองค์กรจะได้รับ เกิดความเข้าใจและพร้อมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่นั้น ไม่มองแต่เพียงว่า เอาเทคโนโลยีมาใช้แล้วบางคนสบายขึ้น แต่ตัวเขาไม่สะดวกสบาย หรือร้ายไปกว่านั้นมองว่า เป็นการผลักภาระไปที่ผู้ใช้งาน ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่สื่อสารหรือสื่อสารแล้วไม่เข้าใจ ก็จะได้เพียงแค่ "hi-tech" ไม่ได้ "human touch"
บริษัทที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาใช้ มักจะเปิดโอกาสให้มีตัวแทนพนักงานและผู้บริหารมาเข้าร่วมในกระบวนการทำงาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเทคโนโลยีมาใช้ การสร้างโปรแกรม (application) ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน ไปจนกระทั่งถึงการกำหนดแผนการนำไปใช้งานจริง (implementation Plan) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ ที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญ แต่ ปัญหาหลักที่พบ คือ HR ไม่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยี และผู้ที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีก็ไม่เข้าใจลึกซึ้งในงาน HR อย่างไรก็ตาม HR ควรต้องเป็นผู้รับบทบาทหลักไม่ใช่ผู้ที่ทำงานด้าน IT ขณะเดียวกัน ควรฟังเสียงของผู้ใช้งานด้วย และมีการสื่อสารกับทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น ในวันนี้ HR จึงต้องศึกษาเรื่อง Change Management ช่วยวางกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ควรมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวเรา เพราะเมื่อนำระบบใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่มาใช้ พนักงานในองค์กรต้องเรียนรู้ และเมื่อต้องเรียนรู้ก็เป็นหน้าที่ของ HR ที่จะจัดเตรียมการอบรมพัฒนา ปรับเปลี่ยนขอบเขตหน้าที่งาน (job description) ใหม่ให้เหมาะสม กำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงาน (job specification) ให้สอดคล้อง รวมทั้งปรับระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (performance management system) เพราะทุกเรื่องที่พูดมา ขอให้มองในลักษณะเป็น integrated program อย่าคิดแยกระบบ เพราะถ้าเราจะก้าวไปสู่การทำงาน ในลักษณะที่เป็น technology-based แต่คนยังไม่ได้ปรับความเข้าใจและทัศนคติ มันก็จะไม่มีวันสมบูรณ์
ย้อนอดีตแนวคิดโฆษณาญี่ปุ่น แบบ HI TOUCH (ปัจจุบันยังใช้ได้อยู่)
ญี่ปุ่น แม้ได้รับแนวคิดวัฒนธรรมตะวันตกมาหลายเรื่อง แต่ความที่ “เฟื่องในชาตินิยม” จึงพยายามปรับให้เข้ากับพฤติกรรมและวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้น ดังเช่นที่จะ กล่าวถึงเรื่องหนึ่ง คือ “การโฆษณา” แนวโฆษณาที่ญี่ปุ่นได้ปรับแต่งจนเป็นแนวคิดที่อยากจะเรียกว่า “HI TOUCH” คือสัมผัสทางจิตที่มีพลัง ถึงแม้แนวคิดนี้ออกจะย้อนอดีตไปสักนิด แต่ถึงอย่างไร ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวก็ยังมีปรากฏและประสบผลสำเร็จอยู่ในปัจจุบันเรื่อยมา เพียงแต่ไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึงกัน จึงขอ “รื้อฟื้นความคิด...นำอดีตมาเป็นแนวคิดให้ปัจจุบันกันสักหน่อย” อย่ามัวหลงใหลได้ปลื้มกับ HI TECH กันมากนักเลย ที่ใกล้ๆ ตัวน่ะไม่ควรมองข้าม
แนวโฆษณาแรกที่จะกล่าวถึง คือ แนวโฆษณาที่เรียกว่า อะรุมัง หรือ ไปป์อดบุหรี่ ที่ใช้สัญลักษณ์ของนิ้วก้อยชูขึ้น ซึ่งมีความหมายถึงไปป์ เปรียบเทียบกับกับการอดบุหรี่ที่ได้ผลไปทั้งเมือง จนคนจำโฆษณาได้ว่าเห็นคนโฆษณาคนชูนิ้วก้อยซึ่งมีลักษณะคล้ายไปป์พร้อมข้อความว่า “เพราะสิ่งนี้แหละ ผมเคยลาออกจากบริษัท” หรือแม้แต่การส่งเสริมเรื่องจุดขายบริการตามสถานีรถไฟ ที่ใช้เพลงที่มีเนื้อหาว่า “รถไฟสีเขียวสายยานาโมเตะวิ่งเป็นวงกลมไปรอบๆ ส่วนรถไฟสายจูโอวิ่งผ่าตรงกลาง” ฟังดูก็ให้อารมณ์อย่างดีกับโฆษณามาก การรถไฟแห่งประเทศไทยของเราน่าให้ความสนใจ เพราะเขาขายเรื่องบริการมากกว่าใช้การลดราคาที่ยิ่งพาให้ขาดทุนลงไปอีกมาก เป็นการแก้ปัญหา
อีกแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า คิซากุระ พยายามมุ่งสร้างตรายี่ห้อให้ติดในใจกลุ่มเป้าหมายวัยกลางคน ปกติกลุ่มเป้าหมายนี้ในญี่ปุ่นมักนิยมเรียกว่า “ตลาดขบถ” เพราะไม่ยอมคล้อยตามความคิดยุคใหม่ง่ายๆ และเชื่อมั่นยึดมั่นในธรรมเนียมนิยมเพื่อรักษาสภาพเดิม (Status Quo) ตัวอย่างเห็นได้ชัด...คนในกลุ่มเป้าหมายนี้จะไม่ชอบให้ใส่หัวน้ำหอมในสินค้าบางอย่าง เช่น แชมพู สบู่ ผงซักฟอก แป้ง ฯลฯ
แนวคิด “คิซากุระ” ได้พยายามทำให้กลุ่มเป้าหมายนี้เกิดการยอมรับ ด้วยการนำ “จิตวิทยา” มาใช้ เช่น ให้เริ่มคิดถึงความลำบากในชีวิต ปลีกตัวออกจากงาน ให้สนใจเหล้าคือเพื่อน หรือสนุกเพลิดเพลินอย่างไม่ต้องหาสาเหตุแบบโฆษณาเบียร์สิงห์ใหม่ของเรา แม้แต่หายใจพร้อมกันก็ยังเฮฮาสนุกสนาน หรือฝนตกก็ยังทานต่อไม่สนฟ้าดิน...ทำนองนั้นสำหรับแนวคิดคิซากุระนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวโฆษณาทางตะวันตกแล้วน่าจะใกล้เคียงกับ “Exaggerate Advertising” หมายถึงโฆษณาเกินจริง อย่างจะขายโทรทัศน์สีที่มีสีคงที่ให้ผู้จะซื้อไปใช้ได้เข้าใจ ก็จะเอาโทรทัศน์ไปซักตากแห้งแล้วบอกว่าสีไม่ตก เป็นต้น
นอกจากแนวคิด “คิซากุระ” แล้ว กลยุทธ์ที่เรียกว่า “โอเซกิ” ที่มุ่งตลาดวัยรุ่นก็ประสบความสำเร็จในการจูงใจให้ดื่มสุราเพื่อเลี้ยงฉลองขณะนั่งรถไฟท่องเที่ยว หรือพิชิตยอดเขาเพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีความเป็น “คนญี่ปุ่น” ทั้งหญิงและชาย ซึ่งในบ้านเราการโฆษณาในวัยรุ่นสนใจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ยี่ห้อ เอ็ม... ก็น่าจะเป็นแนวนี้ได้เช่นกันก็ขอยกตัวอย่างกันให้เห็นพอได้แนวคิดกัน เพื่อผู้เขียนต้องการจะส่งสารในความคิดของผู้เขียนมายังผู้อ่านว่า “HI TOUCH” นั้นมีความสำคัญขนาดไหนอย่าได้ละเลยกัน โดยเฉพาะคนวัยที่ปัจจุบันมักมองข้ามคือ วัยกลางคน ซึ่งอาจคิดว่าไม่นิยมการบริโภคมากเท่าวัยรุ่น แต่ปัจจุบันนั้นจากการเข้ามามีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตที่เห็นชัดคือ วงการบันเทิงต่างๆ คนวัย GENERATION X ยุคปลาย หรือจะเข้าสู่วัยกลางคน เป็น “แนวร่วมการบริโภค” กับคนวัยรุ่นปัจจุบันได้อย่างดีแท้แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น